ไอเดียด่วน ดี เด็ด ร้อนๆ จ้า
โดย ธงชัย โรจน์กังสดาล (@thongnet)
เคยไหมครับที่เราระดมสมอง แล้วได้ข้อสรุปออกมา แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับมัน ปล่อยให้มันนั่งเฉยๆ ในรายงานการประชุม เพราะเราไม่รู้ว่า ควรทำอะไรก่อนหลัง หรือบางครั้งเราได้ไอเดียมากมาย แต่เลือกไม่ถูกว่าควรจะคัดกรองอย่างไรดี
อันที่จริง เทคนิคในการประเมินไอเดียหรือการประเมินความคิดสร้างสรรค์มีด้วยกันหลาย เทคนิค ปรมาจารย์ด้านความคิดสร้างสรรค์แต่ละคนก็เสนอเทคนิคต่างๆ กัน ผมก็เลยคิดเทคนิคการประเมินไอเดียแบบไทย ๆ ขึ้นมาบ้าง และได้นำไปถ่ายทอดในงานสัมมนาต่างๆ หลายครั้งแล้ว ก็เลยจะมาแบ่งปันในบทความนี้ครับ

ไอเดียด่วนคือไอเดียที่สามารถลงมือทำได้เลย โดยไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องใช้กำลังคนเพิ่มเติม ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ สามารถทำได้ทันที หรือเรียกได้ว่า ออกจากห้องประชุม ก็สามารถลงมือทำได้เลย ผมเลือกคำภาษาอังกฤษว่า NOW
ไอเดียดีคือไอเดียที่ควรลงมือทำ เพราะปฏิบัติแล้วเกิดผลดีแน่นอน แต่อาจต้องใช้เวลา กำลังคนเพิ่มเติม ต้องปรับปรุงระบบงานหรือใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่เราควรทำเป็นไอเดียถัดไป ดังนั้นผมเลือกคำภาษาอังกฤษว่า NEXT
ไอเดียเด็ดคือไอเดียที่สร้างสรรค์ แหวกแนว เป็นไอเดียใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน หรือไม่เคยทำมาก่อน เมื่อทำแล้วอาจเกิดผลดีหรือผลเสียก็ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่ก็ไม่ควรตัดไอเดียนี้ทิ้ง เพราะอาจจะมีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงก็ได้ สมควรเก็บเอาไว้เพื่อพิจารณาข้อดี ข้อเสียเพิ่มเติม ดังนั้นไอเดียประเภทนี้ตรงกับภาษาอังกฤษคือคำว่า NEW
จุดประสงค์ของการประเมินไอเดียด้วยเทคนิคนี้ คือ เพื่อจะได้รู้ว่า ไอเดียใดควรนำไปใช้ในเวลาใด จึงจะเหมาะสมที่สุดครับ หลายต่อหลายครั้งที่เรามักละเลยไอเดียที่เรียบง่ายและสามารถปฏิบัติได้เลย แต่ไปสนใจไอเดียที่หรูหรา อลังการ แต่เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ หรือเป็นไอเดียที่ฟังดูสวยหรู แต่ไม่สามารถนำมาใช้การได้จริง ดังนั้นเทคนิคนี้จะช่วยให้เราประเมินได้ว่า ควรลงมือทำไอเดียใดก่อนหลังครับ
ตัวอย่างเช่น ผมเคยนำหลักการนี้ไปสอนแก่พนักงานโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยให้แบ่งกลุ่มระดมสมองเรื่อง “การปรับปรุงการให้บริการของโรงพยาบาล” หลังจากที่แต่ละกลุ่มรวบรวมไอเดียทั้งหมดแล้ว ผมก็ขอให้แต่ละกลุ่มคัดเลือกไอเดียด่วน ดี เด็ดขึ้นมาอย่างละหนึ่งหัวข้อ ซึ่งตัวอย่างคำตอบมีดังนี้ครับ
ไอเดียด่วน ได้แก่ การยิ้มทักทายลูกค้า การยกมือไหว้ลูกค้า การคุยโทรศัพท์กับลูกค้าอย่างมีไมตรีจิต จะเห็นได้ว่า ไอเดียทั้งหลายที่เสนอมานี้ ไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่บาทเดียวและสามารถทำได้ทันทีด้วยครับ
ไอเดียดี ได้แก่ การปรับปรุงระบบไอทีของโรงพยาบาล การรักษาความสะอาดของห้องน้ำให้เป็นมาตรฐาน การปรับปรุงที่จอดรถ ไอเดียที่เสนอมาเหล่านี้อาจต้องใช้กำลังคน กำลังเงิน และเวลาในการดำเนินการพอสมควร แต่เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะถ้าปฏิบัติแล้ว จะเกิดผลดีอย่างแน่นอน
ไอเดียเด็ด ได้แก่ การคัดเลือกนางพยาบาลที่มีหน้าตาดี (คนไข้หนุ่มๆ คงชอบข้อนี้ครับ) การใช้ระบบลายนิ้วมือหรือระบบสั่งการด้วยเสียงในการควบคุมห้องคนไข้การจัด สปาในโรงพยาบาล ไอเดียต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลไม่เคยทำมาก่อน และเป็นไอเดียใหม่ที่คิดนอกกรอบ ดังนั้นถือว่าเป็นไอเดียเด็ดได้ครับ
โดยทั่วไปแล้ว ผมจะให้ความสำคัญกับไอเดียด่วนมากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีเลย และควรรีบลงมือทำทันทีครับ เพราะเกิดผลดีแน่นอน ส่วนวิธีทดสอบว่าไอเดียด่วนสามารถทำได้ทันทีและปฏิบัติได้จริง ผมจะขอให้บางกลุ่มมาเล่นละครสวมบทบาทหรือ Role Play เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในสถานการณ์จริง จะเป็นอย่างไรครับ เพราะถ้าบอกว่าสามารถทำได้ทันทีหลังจากออกจากห้องสัมมนา ก็ควรทำได้จริงในห้องสัมมนาด้วยเช่นกัน ดังนั้นวิธีหนึ่งในการทดสอบไอเดียด่วนคือ การขอให้เล่น Role Play ให้ดูครับ
ครั้งต่อไปเวลาที่ท่านผู้อ่านระดมสมองกลุ่มหรือประชุมกันเพื่อหาไอเดียหรือ แนวคิดใหม่ๆ หลังจากที่รวบรวมไอเดียทั้งหมดได้แล้ว ลองใช้เทคนิคไอเดียด่วน ดี เด็ด เพื่อคัดกรองระดับความเร่งด่วนของความคิดสร้างสรรค์ดูนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น